วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันสราทไทย

วันสารทไทย






          วันสารทไทย เป็นการทำบุญเดือน ๑๐ ของไทย ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ (ประมาณปลายเดือนกันยายน - ตุลาคม)
          คำว่า สารท พระยาอนุมานราชธน ได้เขียนไว้ในหนังสือเทศกาลและประเพณีไทยว่าเป็นคำอินเดีย หมายถึง ฤดู เป็นช่วงระยะเวลาที่พืชพันธุ์และผลไม้เริ่มสุกและให้พืชผลเป็นครั้งแรกในฤดู ประชาชนจะรู้สึกยินดีกับพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกนี้แล้วจะนำไปบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคลและแสดงความเคารพที่ท่านช่วยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้  
          การทำบุญวันสารทในประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือของนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์เผยแผ่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีนี้มาจากศาสนาพราหมณ์
          การทำบุญสารท คือ ฤดูข้าวรวงเป็นน้ำนมนี้แก่พราหมณ์ เมื่อการพระราชพิธีของพราหมณ์ตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม ก็เลยต้องประพฤติตามลัทธิพราหมณ์ด้วย ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ว่า เป็นฤดูที่ชนทั้งปวงกวนข้าวปายาสและทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อสมณะพราหมณ์เป็นคู่กันเช่นนั้น ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นแรกที่เข้ารีตใหม่เคยถือพราหมณ์เดิมได้ทำบุญตามฤดูกาลแก่พราหมณ์เดิมมาอย่างไร ครั้นเมื่อมาเข้ารีตถือพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงกำหนดที่ตัวเคยทำบุญ ผู้ใดละเลยจะนิ่งเสียไม่ทำ เมื่อเชื่อว่าพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าพราหมณ์ ก็ต้องมาถวายพระสงฆ์เหมือนเช่นเคยทำอยู่แก่พราหมณ์ ถ้าผู้ใดจะละทิ้งศาสนาพราหมณ์เดิมของตัวให้ขาดไม่ได้ เพราะความเกรงใจก็ลงเป็นทำทั้งสองฝ่าย ถวายทานแก่สมณะด้วยพราหมณ์ด้วย
          การทำบุญวันสารทนั้นไม่ได้มีปรากฏแต่ในศาสนาพราหมณ์เท่านั้น ในศาสนาพุทธก็มีปรากฏในหนังสือพระธรรมบทเล่มหนึ่งสรุปได้ว่า
          เมื่อพระพุทธวิปัสสี ได้เกิดขึ้นในโลกมีพี่น้องสองคนชื่อ มหากาลเป็นพี่ และจุลกาลเป็นน้อง ทำการเกษตรกรรมร่วมกันปลูกข้าวสาลีบนที่ผืนเดียวกัน จุลกาลนั้นเห็นว่าข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นมีรสหวานอร่อย เห็นว่าควรนำข้าวนั้นไปถวายแด่พระสงฆ์ จึงนำความไปปรึกษากับมหากาลพี่ชาย แต่มหากาลไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อน อีกทั้งก็ไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แต่จุลกาลมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะนำข้าวไปถวายแด่พระภิกษุ มหากาลจึงแบ่งที่ดินออกเป็น ๒ ส่วน ของตนส่วนหนึ่งและของจุลกาลส่วนหนึ่ง ซึ่งจะนำข้าวส่วนนั้นไปใช้กิจอันใดก็ได้ จุลกาลจึงนำเมล็ดข้าวที่กำลังตั้งท้องมาผ่านำเมล็ดข้าวต้มกับน้ำนมสด ใส่เนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เมื่อเสร็จแล้วจึงนำไปถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อถวายภัตตาหารเหล่านี้แด่พระสงฆ์ จุลกาลได้ทูลความปรารถนาของตนกับพระพุทธเจ้าว่า ด้วยศพภสลีทานนี้จงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าบรรลุธรรมวิเศษก่อนชนทั้งปวง เมื่อจุลกาลเสร็จธุระจากการถวายภัตตาหารแด่ภิกษุจึงกลับไปดูนาของตนก็พบว่าข้าวสาลีในนานั้นมีความเจริญงอกงามสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อข้าวสาลีเจริญขึ้นจนเป็นข้าวเม่า จุลกาลก็นำไปถวายพระสงฆ์อีก และได้ทำต่อมาอีกหลายครั้ง คือ เมื่อเก็บเกี่ยวข้าว เมื่อทำเขน็ด เมื่อทำฟ่อน เมื่อขนไว้ในลาน เมื่อนวดข้าว เมื่อรวมเมล็ดข้าว เมื่อขนขึ้นฉาง รวมทั้งหมด ๙ ครั้ง แต่ข้าวในนาของจุลกาลกลับอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นมิได้ขาดหายไป ต่อมาจุลกาลได้มาเกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาด้วยผลบุญแห่งการถวายข้าวแด่พระสงฆ์ ท่านอัญญาโกณฑัญญะจึงเป็นบุคคลแรกที่สำเร็จมรรคผลบรรลุธรรมวิเศษก่อนคนทั้งปวง ตามที่ได้ปรารถนาไว้ในแต่ชาติจุลกาล
            ปัจจุบันการทำบุญวันสารทไทยนั้น นอกจากเพื่อส่งเสริมขวัญและกำลังใจของเกษตรกรผู้ปลูกพืชธัญญาหารแล้ว บางแห่งเชื่อว่าเป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำบุญในวันนี้จะได้รับส่วนบุญเต็มที่และมีโอกาสหมดหนี้กรรมจะได้ไปเกิดหรือมีความสุข
          สำหรับขนมที่นิยมนำมาทำบุญวันสารทไทยนั้น ประกอบด้วย
          ขนมกระยาสารท ด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับจะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น การทำขนมกระยาสารทประกอบด้วย ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำมากวนเข้าด้วยกันเมื่อสุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลมหรือตัดเป็นแผ่นก็ได้
          ข้าวยาคู ทำจากเมล็ดข้าวอ่อน เป็นเมล็ดข้าวที่มีเนื้อข้าวอยู่แล้วแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยว วิธีทำคือให้นำข้าวอ่อนทั้งรวงมาตำให้เปลือกแตกออก เนื้อข้าวสีขาวผสมกับสีเขียวของเปลือกข้าวและก้านรวง ทำให้ได้น้ำข้าวสีเขียวอ่อนดูน่ากิน นำน้ำข้าวนี้ไปต้มไฟ และคอยคนไม่ให้เป็นลูก ใส่น้ำตาลทรายให้ได้รสหวานอ่อนๆ ก็จะได้ข้าวยาคู
          ข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดาลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารเพื่อแก้บน ต่อมานางได้เห็นพระพุทธเจ้าเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นไทร ก็เข้าใจว่าพระองค์เป็นเทพยดาจึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงเชื่อกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
          ข้าวทิพย์ ประกอบด้วยเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด หากทำแบบโบราณ แต่ในปัจจุบันประกอบด้วย น้ำนมข้าวเนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า (๙ ชนิด) ซึ่งการกวนแต่ละครั้งจะต้องใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า สุริยกานต์
            นอกจากนี้ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยยังเป็นประเพณีที่แตกต่างจากประเพณีอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น อาทิ การตักบาตรขนมกระยาสารท ซึ่งส่วนใหญ่จะมีในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย และการตักบาตรน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นที่นิยมในบางท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนใหญ่มักเป็นชาวไทยมอญที่นิยมการตักบาตรน้ำผึ้ง
          เนื่องเทศกาลวันสารทไทยในปีนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมกันทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศลให้แก่ตนเอง ถือเป็นการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยให้คงอยู่สืบไป




ต้นกำเนิดของ "สารทไทย"

          ในประเทศไทย การทำบุญวันสารทมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ตามที่ปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศ เนื่องจากศาสนาพราหมณ์แพร่เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาจากศาสนาพราหมณ์ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เหตุใดต้องมีพิธีสารทไทย

          เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพชนผู้มีพระคุณ เพราะเชื่อกันว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ และญาติจะได้รับส่วนบุญได้เต็มที่ มีโอกาสหมดหนี้กรรม ได้ไปเกิด หรือมีความสุข

          ได้แสดงความเอื้อเฟื้อให้แก่เพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรีกันไว้ เนื่องจากชาวบ้านจะทำขนมกระบาสารทไว้แจกจ่ายกันตามหมู่บ้าน บ้านใกล้เรือนเคียง ทำให้ได้พบปะกัน

          เป็นการแสดงความเคารพ และอปจายนธรรมแก่ผู้หลักผู้ใหญ่

          เป็นการกระทำจิตใจของตนให้สะอาดหมดจด ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความโลภ ขจัดความตระหนี่ได้

          เป็นการบำรุง หรือจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบไป

          เป็นแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ หรือผีไร่ ผีนาที่ช่วยรักษาข้าวกล้าในนาให้เจริญงอกงามดี เนื่องจาก สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำนาเป็นอาชีพหลัก ในช่วงเดือน 10 นี้ ข้าวกล้ากำลังงอกงาม และรอเก็บเกี่ยวเมื่อสุก จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงขอบคุณตอบแทน

กิจกรรมในวันสารทไทย

          กิจกรรมหลักๆ ของวันสารทไทย คือ การนำข้าวปลาอาหาร และที่ขาดไม่ได้ คือ ขนมกระยาสารท ไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการตักบาตรมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ตักบาตรน้ำผึ้งที่มีเฉพาะชาวไทยมอญ การทำบุญตักบาตรในวันสารทไทยนั้น มีความเชื่อว่า เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีการฟังธรรมเทศนา ถือศีล ปล่อยนกปล่อยปลา

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น