วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วันสตรีไทย


 วันสตรีไทย

ความเป็นมาของวันสตรีไทยก่อเกิดจากแนวความคิดที่ว่า ในเดือนสิงหาคมเป็นเดือน แห่ง มหามงคลสมัย ที่ปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวันที่ 12 สิงหาคม ประดุจแม่ของแผ่นดิน และทางราชการได้กำหนด เป็นวันแม่แห่งชาติ องค์กรสตรีไทยทั่วประเทศได้หารือกันทั้งภาครัฐและเอกชน มีความประสงค์
ร่วมกันกำหนดให้มีวันสตรีไทยขึ้น ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจที่สตรีไทย ได้มีโอกาสร่วมกัน กำหนด วันของตนเอง เป็นการผลักดันกระบวนทัศน์ ความคิด ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสตรีไทย และภูมิปัญญา ที่เป็นของตนเองให้ผนึกกันก้าวไปในแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ เพื่อยกระดับ สถานภาพชีวิตของสตรีไทย และร่วมกันพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้า ของประเทศ ทุกองค์กร จึงกำหนดวันสตรีไทยขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันล้นเกล้า จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระราชทานกำหนดให้วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันสตรีไทย ตั้งแต่พุทธศักราช 2546 เป็นต้นไป
          สำหรับแนวทางการจัดกิจกรรมในส่วนกลาง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน จัดงานวันสตรีไทย ผนวกรวมกับการจัดงานสุดยอดหมู่บ้านอุตสาหกรรมและทอผ้าไทย ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม 2547 ณ ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ อิมเพ็ค เมืองทองธานี กิจกรรมสำคัญก์คือ การมอบรางวัลสตรีดีเด่น สื่อโฆษณาดีเด่น ส่งเสริมบทบาทแม่ การสัมมนาทางวิชาการ การจัดนิทรรศการ มหกรรมอาหารไทย ศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค เป็นต้น
          ในส่วนภูมิภาค จัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติสตรีไทยหัวใจแกร่ง ขอความร่วมมือทุกจังหวัด โดยสำนักงานพัฒนาสังคม และ สวัสดิการจังหวัด ร่วมกับองค์กรสตรีระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล องค์กรปกครองท้องถิ่น ร่วมกันคัดเลือกสตรีที่เป็นผู้นำครอบครัว เนื่องจากสามีเสียชีวิต หย่าร้าง หรือถูกทอดทิ้ง ให้ดูแลครอบครัวตามลำพัง ประกอบอาชีพสุจริต ครอบครัวยากจน มีความอดทน มีมานะอุตสาหะ จังหวัดละ 5 ราย มอบเงินทุนประกอบอาชีพ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่สตรีผู้นำ ครอบครัวที่ยากจน โดยขอรับเงิน สนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาสังคม และสวัสดิการจังหวัด หรือเหล่ากาชาดจังหวัด ฯลฯ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จ พระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาส พระชนมายุครบ 72 พรรษา
พระราชดำรัส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์
ทรงเปิดงานโครงการรวมพลังสตรีไทย เทิดไท้องค์ราชินี และพระราชทานวันสตรีไทย
ณ อาคารใหม่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต
วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2546
 
          "สตรีไทยในยุคปัจจุบัน มีความคิดที่ก้าวหน้า และทันสมัยมากขึ้น จึงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ ในการพัฒนาประเทศ การสั่งสม ภูมิปัญญาของสตรีไทย   ที่สืบเนื่องกันมานับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน   ได้ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็น ความ ภาคภูมิใจยิ่งของชาวไทย และการที่จะธำรงความภาคภูมิใจนี้ไว้ให้ยั่งยืน ย่อมเป็นหน้าที่ของสตรีไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันรักษา และเชิดชูเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นต่อไปโดยไม่ขาดสาย
 
          เนื่องในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสตรีไทย ข้าพเจ้าจึงของฝากความคิดเห็นว่า สตรีไทยมีหน้าที่สำคัญเบื้องต้น 4 ประการ คือ
          ประการแรก พึงทำหน้าที่ "แม่" ให้สมบูรณ์ โดยทำให้ครอบครัวบังเกิดความรัก และความอบอุ่น มีความเข้าใจและไว้วางใจ ซึ่กงันและกัน แม่ควรเป็นที่ยึดมั่นของลูก เมื่อลูกเกิดปัญหาก็ช่วยแก้ไขด้วยความเมตตา และสอนให้รู้จักดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร ถ้าสตรีไทยทำเช่นนี้ได้ เด็กไทยก็จะเติบโตเป็นพลเมืองดี และช่วยป้องกันปัญหาร้ายแรงต่าง ๆ ในสังคมไทย
 
          ประการที่สอง พึงทำหน้าที่ของ "แม่บ้าน" ให้ดีโดยทำให้บ้านมีความน่าอยู่ เป็นที่พักพิงอันอบอุ่น ของสมาชิกในครอบครัว ช่วยเก็บออมและเพิ่มพูนทรัพย์สินให้ครอบครัว รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนรอบข้างตามสมควร
 
          ประการที่สาม พึง "รักษาเอกลักษณ์ของความเป็นสตรีไทย" ผู้มีความนุ่มนวล อ่อนโยน สุภาพ เมตตา และยิ้มแย้มแจ่มใส
รวมทั้งธำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยอันละเอียดประณีตให้เป็นที่ชื่นชมของนานาชาติตลอดไป
 
          ประการที่สี่ พึง "ฝึกฝนตนเอง" ให้มีความรู้ความสามารถยิ่งขึ้น ขยัน และอดทน มีความประยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย และรักษา ความสามัคคี ในหมู่คณะไว้ให้มั่นคง
 
          หากสตรีไทยทุกคนตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ทั้ง 4 ประการ นี้ได้ ก็จะส่งผลให้ครอบครัวไทย สังคมไทย และประเทศชาติมีความสุข ความเจริญ นำไปสู่การพัฒนาด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง และสตรีไทยจักเป็นที่ยกย่อง ชื่นชมของสังคมโลกตลอดไป"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น