วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2554

น้ำยาเอนกประสงค์

การทำน้ำยาอเนกประสงค์ชีวภาพอัญชัน

การทำน้ำยาอเนกประสงค์ชีวภาพอัญชัน
ใช้ซักผ้า-ล้างจาน-อาบ-ล้างหน้า

สามารถนำไปใช้ล้างจาน ซักผ้า ล้างหน้า หรืออาบน้ำ ได้ ประหยัดได้หลายทาง แต่ขอบอกก่อนว่าสูตรนี้ไม่มีกลิ่นน้ำหอมเนื่องจากเราเน้นเรื่องความพอเพียง
และหลีกเลี่ยงสารเคมีที่ไม่จำเป็น ลองคำนวณการลดค่าใช้จ่ายดูเช่น

1. ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำยาล้างจาน
2. ไม่ต้องจ่ายค่าสบู่อาบน้ำ (ใช้แล้วผิวนุ่มกว่าใช้สบู่)
3. ลดการจ่ายค่าน้ำยาซักผ้าเดือนละ 300 บาท เหลือเพียง 100 บาท
ได้น้ำยาประมาณ 12 ลิตร รวมแล้วต่อเดือนเราจะประหยัดเงินได้เกือบ 400 บาทเชียวนะ
ส่วนผสมคือ1. ตัวน้ำยาซักผ้าหรือซักล้างใช้สาร N 70 ราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท
2. เกลือเพื่อใช้ปรับความหนืดความข้น ความเหลวของน้ำยาประมาณ 1 ก.ก. (12 บาท)

3. น้ำชีวภาพอัญชันที่เราหมักได้จากการแนะนำคราวที่แล้ว สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรีย และให้สีสวย โดยไม่จำเป็นต้องใช้สารกันบูด ประมาณ 1 แก้ว (ขวดน้ำผลไม้ 250 มล.) 4. น้ำเปล่า 8-10 ลิตร
ขั้นตอนการทำ1. เตรียมส่วนผสมทั้ง 4 อย่าง
2. เท N 70 ใส่ลงในถังใช้ไม้พายคนเบาๆไปทางเดียวกัน ให้ขึ้นขาวฟู ถ้าหนืดเกินไป รู้สึกหนักมือให้ค่อยๆโรยเกลือลงไป (หรืออาจผสมน้ำเกลือใช้แทนได้)
3. จากนั้นค่อยๆใส่น้ำชีวภาพอัญชันเพื่อให้มีสีสวยงาม
4. ทีนี้ก็ทำสลับกันเรื่อย ถ้าหนืดเหนียวให้เติมเกลือ แล้วเติมน้ำ ถ้าเหลวไปจากการเติมน้ำมากก็เติมเกลือ จะทำให้หนืดข้นเช่นเดิม ทำเช่นนี้ไปเรื่อยจนส่วนผสมที่เตรียมไว้หมด
สุดท้ายตรวจดูความเหลวตรงความพอใจของเรา ทิ้งไว้ 1 คืนอาจทำให้หนืดขึ้นอีกเล็กน้อย ทิ้งไว้ให้ฟองยุบตัว รุ่งเช้าน้ำยาเอนกประสงค์ที่ได้ จะใสและไม่มีฟอง จากนั้นให้เรากรอกใส่ภาชนะที่ต้องการเก็บไว้ใช้ เราจะได้น้ำยาสีสวย สีม่วง-อมชมพู
จากการใช้มาอย่างต่อเนื่อง น้ำยาอเนกประสงค์อัญชันจะมีการเปลี่ยนสีเนื่องจากเราไม่ใส่ผงสีในขั้นตอนการทำ
ดังนั้นสีจึงซีดง่ายกลายเป็นสีขาว
วิธีการแก้ไข : ผู้เขียนเติมหัวเชื้อชีวภาพอัญชันที่หมักไว้ลงไป 1 หยดหรือมากกว่า แล้วแต่ชอบ เขย่าให้เข้ากัน ก็ได้สีสวยดังเดิม

สรุปเปรียบเทียบ - จากการใช้ได้เห็นความแตกต่างคือ
- หากลืมตากผ้าในทันที ทิ้งไว้หลายชั่วโมง ผ้าก็ไม่เหม็นทั้งนี้เนื่องจากน้ำชีวภาพอัญชัน
มีสรรพคุณดับกลิ่น กำจัดแบคทีเรีย/จุลินทรีย์ตัวร้าย
- เมื่อใช้ล้างจาน มือจะไม่ลอกเป็นขุยเหมือนใช้น้ำยาล้างจานตามท้องตลาด เนื่องจากเราไม่ใช้สารขจัดคราบ หากในบางจุดของภาชนะยังมี
ความมันอยู่ ให้เทน้ำยาชีวภาพอัญชันลงไป แล้วล้างเฉพาะที่ ล้างทำความสะอาดอีกครั้ง จะพบว่าขจัดความมันได้ดี

ที่สำคัญคือ เราเกิดความภาคภูมิใจที่เราสามารถนำธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้ ไม่ปล่อยให้เป็นขยะ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งการทำความดีเพื่อในหลวงค่ะ

เรียนทำน้ำยาล้างจานฟรี อ.สมศักดิ์

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แก้วิกฤติน้ำท่วมด้วยต้นไผ่

ประโยขน์ของไผ่

  ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในทุกสภาวะอากาศดำรงอยู่ได้ในพื้นดินทุกชนิด ที่สำคัญคือ ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่อำนวยประโยชน์หลายประการ ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม และเป็นพืชที่ลำต้นกิ่งมีลักษณะแปลกสวยงาม ไผ่เป็นไม้ที่ตายยาก ถ้าไผ่ออกดอกเมื่อใดจึงจะตาย แต่ก็ยากมากและนานมากที่ไผ่จะออกดอก ไม้ไผ่มีประโยชน์มากกับคนเราคนเราสามารถนำไม้ไผ่มาสร้างบ้านที่อยู่อาศัย  และทำเครื่องจักสานอื่นๆอีกมากมายสำหรับไม่ไผ่นั้นใช้ได้ทุกส่วนตั้งแต่ หน่อ ลำต้น ใบ ราก เยื่อไผ่ ขุยไผ่ มีประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน  ในปัจจุบันเราสามารถนำไม้ไผ่มาจักรสานทำเป็นอาชีพหารายได้ให้แก่ครอบครัว และยังเป็นงานที่เราส่งออกไปขายอยู่นอกประเทศสำหรับคนไทยเราแล้ว งานที่ใช้ฝีมือถือว่าเป็นงานที่ประณีตระเอียดและสวยงามมาก

ประโยชน์ของไม้ไผ่

1.  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
-   ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง
-   ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ
-   ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
-   ให้ความร่มรื่น
-   ใช้ประดับสวน จัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน


2.  ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์
จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของไม้ไผ่ เราสามารถนำมันมาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆ ของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


3.  ประโยชน์จากลักษณะทางเคมีของไม้ไผ่
- เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ
- เส้นไยใช้ทำไหมเทียม
- เนื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้
- ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด

4  การใช้ไม้ไผ่ในผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และอุสาหกรรม  แบ่งออกได้   ดังนี้        ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นตอก ได้แก่ กระจาด  กระบุง  กระด้ง  กระเช้าผลไม้  ตะกร้าจ่ายตลาด  ชะลอม  ตะกร้าใส่ขยะ  กระเป๋าถือสตรี   เข่งใส่ขยะ  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องใส่ปลา  ลอบ  ไซ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์จากลำต้น และกิ่งของไม้ไผ่  ได้แก่  เก้าอี้  โต๊ะ  ชั้นวางหนังสือ  ทำด้ามไม้กวาด ไม้เท้า คันเบ็ด ราวตากผ้า โครงสร้างบ้านส่วนต่างๆ ทำแคร่ นั่งร้านก่อสร้าง  ท่อส่งน้ำ    รางน้ำ
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไม้ไผ่ ได้แก่  ถาดใส่ขนม   ทัพพีไม้    ตะเกียบ    ไม้เสียบอาหาร
 กรอบรูป  ไม้ก้านธูป ไม้พาย ไม้เกาหลัง เครื่องดนตรี พื้นบ้าน ไม้บรรทัด
        ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ซีกได้แก่  โครงโคมกระดาษ   โครงพัด  โครงร่ม  ลูกระนาด
 คันธนู  พื้นม้านั่ง  แผงตากปลา  สุ่มปลา  สุ่มไก่ 

       5. ประโยชน์ทางด้านการบริโภค เช่น การนำหน่อไม้ไผ่มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซุบ แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก






ประโยชน์จากไม้ไผ่





 



วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มะละกอ




มะละกอ




มะละกอ ชื่อวิทยาศาสตร์: Carica papyya L. ชื่อวงศ์: CARICACEAE ชื่อสามัญ: Papaya. ชื่อท้องถิ่น: มะก๊วยเต็ด ก๊วยเท็ด
ลักษณะทั่วไปของมะละกอ สามารถเจริญเติบโ๋ตได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ ดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.0-6.8 มะละกอใช้ผลบริโภคทั้งผลดิบและผลสุก

การเตรียมดินเพาะกล้ามะละกอ


โดยการใช้ดิน ที่มีส่วนผสมดังนี้ ดินร่วน 3 บุ้งกี๋ ปุ๋ยคอก, ขี้เถ้าแกลบ, ทรายหยาบ อัตราส่วน 1:1:1 ผสมคลุกเคล้าให้เข้ัากัน แล้วนำ มากรอกลงในถุงพลาสติกขนาด 4×6 หรือ 4×4 นิ้ว ให้เต็ม รดน้ำดินในถุงให้ชุ่ม นำเมล็ดพันธุ์มาหยอดลงในถุง ถุงละ 1-2 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่มดูแลรักษารดน้ำทุกวัน หลังเมล็ดเริ่มงอกแล้วดูแลรักษาต้นกล้าประมาณ 30 วัน ก็สามารถย้ายปลูกในหลุมปลูกได้

การเตรียมแปลงปลูกมะละกอ

มะละกอ เป็นพืชที่มีระบบรากลึกและกว้าง ทำหลุมปลูกระยะห่างระหว่างแถว 2-2.5 เมตร ระหว่างต้น 2 เมตร ตีหลุมลึก 0.5 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 1 ช้อนแกงต่อหลุม ใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว ทับบนปุ๋ยเคมี นำต้นกล้ามะละกอ ลงปลูกในหลุมกลบโคนเล็กน้อยแล้วรดน้ำให้ชุ่ม หลังปลูกเสร็จให้ทำหลักเพื่อยึดลำต้นไม่ให้โยกขณะลมพัด

การดูแลรักษามะละกอ

  1. การใ้ห้ปุ๋ย
    - ให้ปุ๋ย 15-15-15 หลุมละ 1 ช้อนแกง ทุก 30 วัน
    - ให้ปุ๋ย 14-14-21 หลังติดดอกออกผลแล้ว อัตรา 1ช้อนแกง/ต้น/หลุม หรือจะใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์น้อยลงก็ได้
  2. การให้น้ำ เนื่องจากมะละกอเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่อย่าให้ขาดน้ำ เพราะจะทำให้ต้นแคระแกรน ไม่ติดดอกออกผล การให้น้ำอย่าให้มากเกินไป ถ้าน้ำท่วมขังนาน 1-2 วัน ต้นมะละกอจะเหลืองและตายในที่สุด
  3. การพรวนดินกำจัดวัชพืช ควรมีการพรวนดินกำจัดวัชพืชในช่วงแรก อย่าให้วัชพืชรบกวน
  4. การทำไม้หลัก เพื่อค้ำยันพยุงลำต้นไม่ให้ล้ม โดยเฉพาะช่วงติดผล

การเก็บเกี่ยว

มะละกอ ถ้าเก็บผลดิบสามารถเก็บได้หลังปลูกประมาณ 5-6 เดือน แต่ถ้าเก็บผลสุกหลังจากปลูกประมาณ 8-10 เดือน ถึงสามาถเก็บเกี่ยวได้ ให้เลือกเก็บเกี่ยวผลที่กำลังเริ่มสุกมีสีแต้มสีส้มปนเขียวนิดๆ ผลยังไม่นิ่ม


 


สรรพคุณ / ประโยชน์ของมะละกอ


มะละกอสุก ๆ เนื้อสีส้มแดงนี่แหละขอบอกว่าเป็นผลไม้ที่ดีที่สุดของความมีประโยชน์ทีเดียว ใครไม่กินก็บอกได้เลยว่า คุณกำลังพลาดของดีชนิดที่สุขภาพไม่น่าให้อภัยเลย มะละกอสุกกินง่ายกว่ามะละกอดิบตั้งเยอะสามารถปอกเปลือกแล้วลำเลียงลงกระเพาะได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการปรุงแต่งแต่อย่างใด เป็นอาหารบริสุทธิ์ที่ธรรมชาติบรรจงสร้างมาให้เรา ฉะนั้นเรามาว่ากันถึงความอร่อยและมีประโยชน์ของมะละกอกันเลยดีกว่า

นอกจากเนื้อหวาน ๆ แสนอร่อยแล้วทุกส่วนของมะละกอยังสามารถนำมาใช้ทำยาได้ ผลการวิจัยพบว่า ประโยชน์ของมะละกอมีอยู่มากมายตั้งแต่ช่วยต้านมะเร็ง ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี บรรเทาอาการท้องผูกซึ่งเป็นที่มาของโรคริดสีดวงทวาร ป้องกันอาการตับโต เป็นยาบำรุงหัวใจ ตับ และสมอง

สรรพคุณและประโยชน์ของมะละกอยังเผื่อแผ่ไปถึงเด็กทารกที่ดูดนมมารดาอีก เพราะช่วยกระตุ้นให้แม่มีน้ำนมมากขึ้นป้องกันโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ป้องกันการติดเชื้อจากจุลินทรีย์ที่อยู่ภายในลำไส้ เรื่องความสวยงาม มะละกอยังมีเอนไซม์ที่ช่วยบำรุงผิวได้เป็นอย่างดี ใครอยากมีผิวหน้าเนียนขาวนุ่มชุ่มชื่นก็นำมะละกอสุกครึ่งถ้วยผสมกับน้ำผึ้ง แท้ 1 ช้อน นมสดอีก 1 ช้อน ปั่นเข้าด้วยกันเป็นครีมข้น ทาให้ทั่วผิวหน้า ทิ้งไว้ 10 - 15 นาทีแล้วล้างออก เท่านี้ก็เห็นผลทันตาและทันใจทีเดียว





วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กล้วย

       
ถิ่นกำเนิดของกล้วย (First Home)
กล้วยเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนชื้น ถิ่นแรกของกล้วยจึงอยู่แถบเอเชียตอนใต้ ซึ่งจะพบกล้วยพื้นเมืองทั้งที่มีเมล็ดและไม่มีเมล็ด และจากผลของการย้ายถิ่นฐานในการทำมาหากิน การอพยพประชากรจากเอเชียตอนใต้ไปยังหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ต้นคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ในการอพยพแต่ละครั้งจะต้องมีการนำเอาเสบียงอาหารติดตัวไปด้วย จึงได้มีการนำเอากล้วยไปปลูกแถบหมู่เกาะฮาวายและหมู่เกาะทางด้านตะวันออก
สำหรับประวัติกล้วยในประเทศไทย เข้าใจว่าประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยป่าและต่อมาได้มีการนำเข้ากล้วยตานี และกล้วยชนิดอื่นในช่วงที่มีการอพยพของคนไทยในการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย มีเอกสารกล่าวว่าในสมัยอยุธยาพบว่ามีกล้วยร้อยหวี


ลักษณะทั่วไป

กล้วย เป็นไม้ผล ลำต้น เกิดจากกาบหุ้มซ้อนกัน สูงประมาณ 2 – 5 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว เกิดกระจายส่วนปลายของลำต้นเวียนสลับซ้ายขวาต่างระนาบกัน ก้านใบยาว แผ่น ใบกว้าง เส้นของใบขนานกัน ปลายใบมน มีติ่ง ผิวใบเรียบลื่น ใบมีสีเขียวด้านล่างมีไขนวลหรือแป้งปกคลุม เส้นและขอบใบเรียบ ขนาดและความยาวของใบขึ้นอยู่กับแต่ละพันธุ์
ดอก เป็นดอกห้อยลงมายาวประมาณ 60 – 130 ซม. ซึ่งเรียกว่าหัวปลี ตามช่อจะมีกาบหุ้มสีแดงเป็นรูปกลมรี ยาว 15 – 30 ซม. ช่อดอกมีเจริญก็จะกลายเป็นผล ผล เป็นผลสดจะประกอบด้วยหวีกล้วย เครือละ 7 – 8 หวี แต่ละหวีมีกล้วยอยู่ประมาณ 10 กว่าลูก ขนาดและสีของกล้วยจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของแต่ละพันธุ์ บางชนิดมีผลสีเขียว , เหลือง , แดง แต่ละต้นให้ผลครั้งเดี่ยวเท่านั้น เมล็ด มีลักษณะกลมขรุขระ เปลือกหุ้มเมล็ดมีสีดำ หนาเหนียวเนื้อในเมล็ดมีสีขาว
ขยายพันธุ์ ด้วยการแยกหน่อ หรือแยกเหง้า
รสชาติ รสฝาด


 

รูปร่างและลักษณะของกล้วยแต่ละชนิดในประเทศไทย

เนื่องจากกล้วยแต่ละชนิดมีรูปร่างและลักษณะเฉพาะตัว ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องแจกแจงให้เกิดความเด่นชัดของกล้วยแต่ละชนิดไว้ดังต่อไปนี้ :
  กล้วยสกุล Musa : มีการแตกหน่อและใช้ผลรับประทานได้
กล้วยสกุล Musa ในหมู่ Callimusa: ที่พบในประเทศไทยขณะนี้มีชนิดเดียว คือ
กล้วยป่าชนิด Musa gracilis Horltt. ชื่ออื่นๆ กล้วยทหารพราน หรือกล้วยเลือด
กล้วยชนิดนี้ มีลำต้นเทียมสูง 0.6 – 2 เมตร โคนต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 เซนติเมตร กาบและใบมีปื้นสีม่วงเข้ม ใบกว้าง 25-35 เซนติเมตร ยาว 90-150 เซนติเมตร สีเขียว มีนวล ก้านใบยาว 30-70 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งยาว 60 เซนติเมตรหรือกว่านั้น ก้านช่อดอกมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ดอกตัวเมียสีขาวหม่น ปลายสีเขียว ยาว 2.5-4 เซนติเมตร เรียวชิดกัน 3-8 แถว แถวหนึ่ง มี 2-4 ดอก ใบประดับกว้างประมาณ 4.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เวนติเมตร สีม่วงปลายสีเขียว อาจร่วงหลุดไปก่อนบ้าง ดอกตัวผู้สีเหลือง ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ผลตรง สีเขียว มีนวลและมีทางสีม่วงตามยาวของผล ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 เซนติเมตร เป็นเหลี่ยม 2-3 เหลี่ยม ปลายทู่ ก้านผลยาวประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนมีขนประปราย แก่แล้วผิวเกลี้ยง
กล้วยป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ในท้องที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส ขึ้นในป่าดิบชื้น ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย ชาวมลายูเรียกว่าปีชังกะแต ปีชังเวก และปีชังโอนิก
 
กล้วยสกุล Musa ในหมู่ Eumusa: ในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ
กล้วยป่า ( Musa acuminata Colla) ชื่ออื่น ๆ กล้วยแข้ ( เหนือ ). กล้วยเถื่อน ( ใต้ ). กล้วยลิง ( อุตรดิตถ์ ). กล้วยหม่น ( เชียงใหม่ )
กล้วยป่า มี ลำต้นเทียมสูง 2.5 – 3.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางต่ำกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นนอกมีปื้นดำ มีนวลเล็กน้อย ส่วนด้านในสีแดง ก้านใบสีชมพูอมแดงมีจุดดำ มีครีบเส้นกลางใบสีเขียว ใบชูขึ้นค่อนข้างตรง ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ๆ มาก ใบประดับรูปค่อนข้างยาว ปลายแหลมด้านบนสีม่วงอมแดง มีนวล ด้านล่างที่โคนสีแดงจัด เมื่อใบกางตั้งขึ้นจะเอนไปด้านหลัง และม้วนงอเห็นได้ชัด การเรียงของใบประดับช่อดอกไม่ค่อยช้อนมาก และจะมีลักษณะนูนขึ้นที่โคนของใบประดับ เห็นเป็นสันชัดเจนเมื่อใบประดับหลุดออก ดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ผลมีก้านและมีขนาดเล็ก รูปร่างของผลมีหลายแบบแล้วแต่ชนิดย่อย (Subspecies) บางชนิดมีผลโค้งงอ บางชนิดไม่โค้งงอ ผลมีเนื้อน้อยสีขาว รสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก สีดำ ผนังหนา และแข็ง
กล้วยป่าที่พบในประเทศไทยมี 4 ชนิดย่อย (Subspecies) คือ
•  Musa acuminata Colla ssp. siamea Simmonds
•  M. acuminata Colla ssp. burmanisa Simmonds
•  M. acuminata Colla ssp. malaccensis (Ridl.) Simmonds
•  M. acuminata Colla ssp. microcarpa (Becc.) Simmonds
กล้วยเหล่านี้พบว่าขึ้นอยู่ทั่วไปในป่าดิบ มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย กล้วยชนิดนี้ นอกจากขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อแล้ว ยังใช้เมล็ดปลูกได้ ผลของกล้วยป่าเมื่อสุกกินได้ แต่ไม่นิยมเพราะมีเมล็ดมาก ผลอ่อนและหัวปลีรับประทานได้
กล้วยตานี ( Musa balbisiana Colla) ชื่ออื่น ๆ กล้วยงู ( พิจิตร ): กล้วยชะนีใน . กล้วยตานีใน . กล้วยป่า . กล้วยเมล็ด ( สุรินทร์ ): กล้วยพองลา ( ใต้ )
กล้วยตานี ลำต้นเทียมสูง 3.5-4 เมตร เว้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร สีเขียว ไม่มีปื้นดำ กาบลำต้นด้านในสีเขียว ก้านใบสีเขียว เส้นกลางใบสีเขียวไม่มีร่อง ก้านช่อดอกสีเขียวไม่มีขน ใบประดับรูปค่อนข้างป้อม มีความกว้างมาก ปลายมน ด้านบนสีแดงอมม่วง มีนวล ด้านล่างสีแดงเข้มสดใส เมื่อใบประดับกางขึ้นตั้งฉากกับช่อดอกและไม่ม้วนงอ ใบประดับแต่ละใบซ้อนกันลึก เครือหนึ่งมีประมาณ 8 หวี หวีหนึ่งมี 10-14 ผล ผลป้อมขนาดใหญ่ มีเหลี่ยมเห็นชัดเจน ลักษณะคล้ายกล้วยหักมุกแต่ปลายทู่ ก้านผลยาว ผลเมื่อสุกผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เนื้อมีรสหวาน มีเมล็ดจำนวนมาก เมล็ดใหญ่สีดำ ผนังหนา แข็ง
กล้วยตานีที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด แตกต่างที่ลำต้นเทียมและผล กล่าวคือกล้วยตานีพบทางภาคเหนือนั้น ลำต้นเทียมเกลี้ยงไม่มีปื้นดำเลย ผลจะสั้น ป้อม ส่วนตานีอีสานจะมีลำต้นเทียมที่มีประดำเล็กน้อย ผลคล้ายกล้วยน้ำว้า แต่ตานีทางภาคใต้ ลำต้นเทียมค่อนข้างจะมีปื้นดำหนา ผลคล้ายตานีเหนือแต่นาวกว่า และมีสีเขียวเป็นเงา นอกจากนี้ยังได้มีการนำตานีดำมาจากฟิลิปปินส์ แต่ตานีดำนี้เป็นพันธุ์พื้นเมืองของอินโดนีเซีย ลำต้นเทียมสีม่วงดำและเส้นกลางใบสีม่วงดำสี
เข้มมากจนดูเหมือนสีดำ ผลสีเขียวเข้มเป็นมันมีลักษณะคล้ายตานีใต้ มีเมล็ดมาก
 
กล้วยหก ( Musa itinerans Cheeseman) , กล้วยแดง ชื่ออื่น ๆ กล้วยอ่างขาง
กล้วยหกเป็นกล้วยป่าอีกชนิดหนึ่งใน section Eumusa ลำต้นเทียมสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอมเหลืองมีประดำเล็กน้อย ด้านในสีเหลืองอ่อน ก้านในสีเขียวอมเหลืองและมีประเล็กน้อยมีปีก เส้นกลางใบสีเขียวก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ ปลายมน ด้านบนสีเหลืองอมม่วงเข้ม ไม่มีนวล ด้านล่างสีครีม แต่ละใบเรียงซ้อนกันลึกและมีสันตื้นเมื่อใบประกอบหลุด เครือหนึ่งมี 5-7 หวี หวีหนึ่งมี 9-13 ผล ผลป้อม ปลายทู่ โคนเรียว ก้านผลยาวเกือบเท่าความยาวของผล เนื้อสีเหลืองและมีเมล็ด
กล้วยหกมีผลสีเขียวผลเล็ก ส่วนกล้วยแดงมีผลใหญ่กว่านิดหน่อยและเปลือกสีแดงพบมากในทางภาคเหนือ เช่น ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก และที่ดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ปลีรับประทานได้
 
สำหรับกล้วยกินได้ มีดังนี้

กล้วยไข่ ‘Kluai Khai' ชื่ออื่น ๆ กล้วยกระ ชื่อสามัญ Pisang Mas
กล้วยไข่มีลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวปนเหลือง มีประดำหนา ด้านในสีชมพูแดง ก้านใบสีเขียวอมเหลือง มีร่องกว้าง โคนก้านใบมีปีกสีชมพู ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ใบประดับรูปไข่ ม้วนงอขึ้น ปลายค่อนข้างแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านล่างที่โคนกลีบสีซีด กลีบรวมใหญ่สีขาว ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวไม่มีสี เกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียมีความยาวใกล้เคียงกันแต่เกสรตัวเมียสูงกว่าเล็กน้อย เกสรตัวเมียมีสีเหลือง ส่วนเกสรตัวผู้มีสีชมพู เครือหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 14 ผล ผลค่อนข้างเล็ก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร ก้านผลสั้นเปลือกค่อนข้างบาง เมื่อสุกมีสีเหลืองสดใส บางครั้งมีจุดดำเล็ก ๆ ประปราย เนื้อสีครีมอมส้ม รสหวาน
กล้วยไข่ปลูกกันมากเป็นการค้าที่จังหวัดกำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ เพชรบุรี และปลูกทั่ว ๆ ไปในสวนหลังบ้านในทุกภาคของประเทศไทย เพราะเป็นกล้วยที่รสชาติดี และใช้ในเทศกาลสารทไทย ผลรับประทานสด และเป็นเครื่องเคียงของข้าวเม่าคลุก และกระยาสารท นอกจากนี้ยังใช้ทำกล้วยเชื่อม ข้าวเม่าทอด และกล้วยบวชชี ปัจจุบันกล้วยไข่เป็นสินค้าออกที่ส่งไปยังประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่นและฮ่องกง

กล้วยไข่ทองร่วง ‘Kluai Khai Thoung Roung']
มีความสูงไม่เกิน 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำปานกลาง พื้นด้านในมีสีแดงเรื่อ ๆ ปน ก้านใบเปิด มีสีแดงปนค่อนข้างชัดเจน
พู่ ก้านช่อดอกมีขนอ่อน ใบประดับรูปร่างค่อนข้างยาว ปลายแหลม ใบประดับม้วนขึ้น ด้านนอกสีม่วงแดง มีนวลปานกลาง ด้านในซีดเล็กน้อย กลีบรวมเดี่ยวใสและมีรอยย่น ส่วนกลีบรวมใหญ่สีครีม ปลายสีเหลือง ผลมีขนาดเล็กใกล้เคียงกับกล้วยไข่ เมื่อสุกมีผิวสีเหลือง ก้านช่อดอกมีขน เครือชี้ออกทางด้านข้าง เครือหนึ่งมีมากกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล น้ำหนักผลหนักประมาณ 87 กรัม มีรสหวาน เมื่อสุกเต็มที่ผลมักร่วง
 
กล้วยเล็บมือนาง ‘Kluai Leb Mu Nang' ชื่ออื่น ๆ กล้วยข้าว . กล้วยเล็บมือ ( สุราษฎร์ธานี ): กล้วยทองดอกหมาก ( พัทลุง ) กล้วยหมาก ( นครศรีธรรมราช )
กล้วยเล็บมือนางมีลำต้นสูงเทียมไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูอมแดง มีประดำหนา ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านในสีชมพูอมแดง ใบตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีปีก เส้นใบสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนค้างยาว ม้วนงอขึ้นปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านล่างสีแดงซีด ดอกตัวผู้หลุดร่วงไปหลังจากใบประดับร่วง ดอกตัวผู้มีสีครีม ดอกตัวเมียสีชมพูอ่อน ปลายสีเหลือง ก้านเกสรตัวเมียตรง เกสรตัวผู้มีความยาวกว่าเกสรตัวเมีย กลีบรวมใหญ่มีสีเหลืองอ่อน ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวใสไม่มีสี ปลายหยัก เครือชี้ออกทางด้านข้าง เครือหนึ่งมี 7-8 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลเล็ก กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร รูปโค้งงอปลายเรียวยาว ก้านผลสั้น เปลือกหนา เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง และยังมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ กลิ่นหอม เนื้อในสีเหลือง รสหวาน
กล้วยเล็บมือนางนิยมปลูกในแถบภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร ปัจจุบันปลูกทั่ว ๆ ไปในสวนหลังบ้าน เพราะเป็นกล้วยที่มีรสชาติดีชนิดหนึ่ง
กล้วยหอมจันทร์ ‘Kluai Homchan'
กล้วยหอมจันทร์มีลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีชมพูอมแดง มีประดำเล็กน้อย ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านใบสีชมพูอมแดง ตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีปีก เส้นใบสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนค้างยาวม้วนงอขึ้น ปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง ด้านล่างสีแดงซีด เครื่องหนึ่งมีประมาณ 7 หวี หวีหนึ่งมีประมาณ 14 ผล ผลเล็ก กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 9-11 เซนติเมตร รูปคล้ายกล้วยเล็บมือนาง แต่ปลายผลไม่เรียวแหลม มีจุกสั้นเมื่อเทียบกับขนาดของผล ก้านผลสั้น เปลือกหนากว่ากล้วยเล็บมือนาง เมื่อสุกมีสีเหลืองคล้ายกัน กลิ่นหอมเย็น เนื้อสีเหลือง รสหวาน
กล้วยหอมจันทร์ปลูกทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่ปลูกในสวนหลังบ้าน และปลูกเป็นการค้าทางภาคใต้
 
กล้วยไล ‘Kluai Lai'
ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นมีประดำปานกลาง มีไขปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพูปน ก้านใบเปิดกว้างมีปีกเล็กน้อยและมีสีเขียว ปนชมพู เส้นก้านใบสีเขียว ก้านช่อดอกมีขน เครืออกชี้ทางด้านข้าง ส่วนปลีห้อยลง ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม มีสีม่วงเข้ม ไม่มีไข ปลายม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลขนาดเล็ก ผลเมื่อสุกมีสีส้มอมเหลือง รสหวาน
 
กล้วยสา ‘Kluai Sa'
ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวเข้มมีจุดดำประน้ำตาลเข้มมากและมีนวลปานกลาง ด้านในสีออกชมพู ก้านใบมีนวลมากมีสีม่วงแดงเข้ม ทั้งด้านล่างและขอบใบ ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับมีรูปไข่ รูปร่างยาวปลายแหลม เครือห้อยลง เครือหนึ่งมีมากกว่า 8 หวี หวีหนึ่งมี 18-22 ผล ผลมีขนาดเล็ก กว้างประมาณ 3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร ผลหนึ่งหนัก 80-90 กรัม
 
กล้วยทองขี้แมง ‘Thong Khi Meew'
ลำต้นเทียมมีความสูงประมาณ 2.5-3.0 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นเทียมด้านนอกสีเขียวเข้มมีจุดประสีน้ำตาลเข้มจำนวนมาก และมีนวลมาก ด้านในสีออกชมพู ก้านใบมีสีเขียวมีปีกสีชมพู ก้านช่อดอกมีขน ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม และม้วนขึ้น ใบประดับมีสีแดงเทาไม่มีไข กลีบรวมใหญ่สีขาว ปลายสีเหลือง กลีบรวมเดี่ยวใสไม่มีสี ดอกตัวผู้และตัวเมียมี ใบประดับมีรูปร่างเรียวยาว ปลายแหลม ด้านในสีซีด ดอกตัวเมียมีความสูงมากกว่าดอกตัวผู้ เครือกล้วยชี้ไปทางด้านข้างรวมทั้งปลี เครือหนึ่งมี 7 หวี หวี หนึ่งมี 10-16 ผล ผลเมื่อสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีเมล็ด
 
กล้วยทองกาบดำ ‘Kluai Thong Kab Dam'
ลำต้นเทียมมีความสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 15 เซนติเมตร มีประดำปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพู ก้านใบมีปีกและมีสีชมพู เส้นกลางใบสีเขียว ก้านช่อดอกมีขนเล็กน้อย เครือออกทางด้านข้างขนานกับพื้นดินรวมทั้งปลีด้วย ก้านเครือมีขน ปลีมีรูปไข่ยาว ปลายแหลม มีไขปานกลาง สีม่วงเข้ม ปลีม้วนขึ้น เครือหนึ่งมี 7-8 หวี หวีหนึ่งมีผลไม่เกิน 16 ผล ผลสุกสีเหลืองอมส้ม ผลมีขนาดไม่ใหญ่
 
กล้วยน้ำไท ‘Klaui Nam Thai'
กล้วยน้ำไทมีลำต้นเทียมสูงไม่เกิน 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกมีประดำหนา ที่โคนมีสีชมพูอมแดง ด้านในสีชมพูอมแดง ก้านใบตั้งขึ้น มีร่องกว้าง มีปีกสีชมพู เส้นใบสีชมพูอมแดง ก้านช่อดอกมีขน ใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาวม้วนงอขึ้น ปลายแหลม ด้านบนสีม่วงอมแดง ด้านล่างสีซีด เครือหนึ่งมีประมาณ 5 หวี หวีหนึ่งมี 12-18 ผล ผลคล้ายกล้วยหอมจันทร์ ขนาดใกล้เคียงกัน กว้าง 2 –2.05 เซนติเมตร ยาว 10-11 เซนติเมตร ผลไม่งอโค้งเท่ากล้วยหอมจันทร์ มีหัวจุกใหญ่แต่เล็กกว่าหอมจันทร์ ที่ปลายจุกมักมีก้านเกสรตัวเมียติดอยู่ เปลือกหนากว่าหอมจันทร์ มีกลิ่นหอมเย็น เมื่อสุกสีเหลืองเข้มกว่ากล้วยหอมจันทร์และมีจุดดำเล็ก ๆ คล้ายจุดของกล้วยไข่ กลิ่นหอม เนื้อสีเหลืองส้ม รสหวาน

กล้วยน้ำนม ‘Klaui Nam Nom'
ลำต้นเทียมมีความสูงน้อยกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านในสีเขียว มีไขมาก ก้านใบมีปีกเป็นสีชมพูเล็กน้อย เส้นกลางใบสีเขียว เครือออกขนานกับพื้นดินส่วนปลีห้อยลง ก้านเครือมีขน ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว สีแดงอ่อน ปลายแหลม มีไขปานกลาง ใบประดับม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี ประมาณ 10 ผล
 
กล้วยหอมสั้น ‘Kluai Hom Son'
ลำต้นเทียมมีความสูงน้อยกว่า 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 15 เซนติเมตร ลำต้นมีประดำและไขปานกลาง กาบลำต้นด้านในมีสีชมพู ก้านใบมีปีกเป็นสีชมพู เส้นกลางใบสีเขียว เครือออกทางด้านข้างขนานกับดินรวมทั้งปลีด้วย ก้านช่อดอกมีขนเล็กน้อย ปลีมีใบประดับรูปไข่ยาว ปลายแหลม สีม่วงเข้ม ปลายม้วนขึ้น เครือหนึ่งมีน้อยกว่า 7 หวี หวีหนึ่งมี 10-16 ผล ผลสุกมีสีเหลืองอมส้ม มีขนาดใกล้เคียงกับกล้วยน้ำว้าแต่รูปร่างเหมือนกล้วยไข่ รสหวาน



 
ประโยชน์



ทางด้านอาหาร เป็นไม้ผลนำมาบริโภค ใบนำมาห่อขนม หรือส่วนของลำต้น ใบนำมาทำกระทง ก้านนำมาประดิษฐ์เป็นของเล่น ประโยชน์ทางสมุนไพร ยางกล้วยจากใบใช้ห้ามเลือด โดยหยดยางลงบนแผล ใช้กล้วยดิบทั้งลูกบดกับน้ำให้ละเอียด และใส่น้ำตาล รับประทาน แก้โรคท้องเสีย แผลในกระเพาะอาหารไม่ย่อย ผลสุกให้เป็นอาหารเป็นยาระบายที่เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจาจาระแข็ง หัวปลี แก้โรคลำไส้ แก้โรคโลหิตจาง และลดน้ำตาลในเลือด

กล้วยกับความเชื่อของคนไทย

ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทยมีอยู่มากมาย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ในหญิงมีครรภ์มักไม่รับประทานกล้วยแฝดเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ลูกแฝด แต่ถ้าบ้านไหนอยากได้ลูกแฝดก็รับประทานกล้วยแฝด
สำหรับหญิงแม่ลูกอ่อนถ้ารับประทานแกงหัวปลี จะมีน้ำนมมาก ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว หัวปลีเป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง บำรุงเลือดดี จึงทำให้มีน้ำนมมากนั้นเอง
ต้นกล้วยที่ขาวเนียนสะอาด ไม่มีกาบใบแห้ง มักเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของนางพรายตานี เป็นผีผู้หญิง ที่มีหน้าตาสวยงาม ผิวขาว จะปรากฏตัวตอนกลางคืน โดยยืนอยู่ใต้ต้นกล้วยนั้นๆ
ในด้านยาอายุวัฒนะ หากนำกล้วยแช่น้ำผึ้งปิดไหแล้วใช้ปูนแดงทาก่อนฝาปิด จากนั้นเอาไว้ใต้ฐานพระในวันเข้าพรรษา ปล่อยไว้นานสามเดือน ก็สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งนี้ก็เป็นแนวคิดด้านการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งด้วย
ในงานมงคลมักมีกล้วยเข้ามาร่วมเกี่ยวในพิธีด้วย เช่น กล้วยทั้งเครือ กล้วยดิบ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และความสงบร่มเย็น
ในสมัยก่อนคนที่เป็นโรคฝีดาษ มีแผลพุพอง ก็มักให้นอนบนใบกล้วยเพราะจะทำให้น้ำเหลืองไม่ติดกับเสื้อผ้าบังเกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย ส่วนการประหารชีวิตนั้น ก่อนลงมือประหารจะมีการนำใบกล้วยมาปูรองก่อน เพื่อกันเลือดไหลลงไปบนดิน เป็นต้น

 

ความเชื่อเรื่องกล้วยของชาวต่างชาติ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์แบบย่อของกล้วยว่า Musa กล่าวกันว่า Musa มาจากคำภาษาอาหรับว่า Muz ก็มีรากเดิมมาจากคำสันสกฤตว่า Mocha อีกทอดหนึ่งซึ่งหมายถึงกล้วย
เหมือนกัน อีกกระแสหนึ่งที่ฟังดูน่าเชื่อถือน้อยกว่าบอกว่า Musa เป็นชื่อตั้งตามหมอชาวอาหรับในสมัยโรมัน คือ Antonius Musa ผู้นำกล้วยจากอินเดียมากจากอินเดียมาปลูกในถิ่น
ทางเหนือของอียิปต์ ก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเรียกกล้วยว่า Banana อย่างเป็นเอกฉันท์ กล้วยถูกเรียกว่า Plantain ตามคำภาษาสเปนว่า Plantano ซึ่งอาจมีรากมาจากคำลาตินว่า Planta ที่
แปลว่าใบกว้าง (spreading leaf) นอกจากนั้นฝรั่งเศสและอิตาลีเคยเรียกกล้วยว่า "fig" โดยมาจากคำเต็ม ๆ ว่า figue d Adam หรือ fico d Adamo ซึ่งอาจแปลได้ว่า "มะเดื่อของอาดัม"
อาดัมนี่คือ (อาดัมกับอีฟในตำนานสร้างโลกของศาสนาคริสต์) ส่วน fig น่าจะหมายถึงใบมะเดื่อที่อาดัมใช้ปิดอวัยวะเพศของตน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีที่ใช้คำนี้อยู่คือ
banana fig แต่นี่หมายถึงกล้าวยตากโดยเฉพาะส่วนคำ Banana ในปัจจุบันเรียกตามภาษาแอฟริกาตะวันตกซึ่งอาจมีตากจากคำภาษาอาราเบียว่า Banan ซึ่งหมายถึงนิ้วมือ
หรือนิ้วเท้าในสังคมไทย กล้วย ถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบแสดงถึงคุณลักษณะทำได้ง่าย เช่นง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก หรือเรื่องกล้วยกล้วย แต่ในสังคมตะวันตกยุค
บริโภคนิยม ถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบเป็นสัญลักษณ์กามารมณ์ โดยเฉพาะอวัยวะเพศผู้ชายเช่นสโลแกนโฆษณาว่า unzip a banana นอกจากนั้นยังมีที่ใช้ banana ในภาษาพูดอัน
หมายถึงอาการ บ้า หรือ เพี้ยน ฝรั่งเองก็ยังสืบค้นไม่ได้ว่า บ้าจะเกี่ยวข้องกับบานานาได้อย่างไรกล้วยในเอเชียใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งจริยธรรม คุณความดี ความงาม
ความเจริญงอกงามในหมู่ชาวอาหรับถือว่ากล้วยเป็นพันธุ์ไม้แห่งสวรรค์ หรือพันธุ์ไม้แห่งปัญญา ที่รู้แยกแยะความดีกับความเลว ตำนานอินเดียถือว่ากล้วยเป็นผลไม้ของผู้มีปัญญา
โดยเล่าขานถึงฤาษีในดงกล้วย ผู้กินกล้วยเป็นอาหารจนเกิดกำลังและปัญญาเป็นที่อัศจรรย์ หลายประเทศในเอเชียถือว่ากล้วยเป็นผลไม้สำหรับเซ่นสังเวยผีและเทวดา ตลอดจน
ผู้มีพระคุณของไทยเรา กล้วยเป็นของที่ขาดไม่ได้ใน ตั้งขันข้าว หรือค่าบูชาคุณ หมอตำแยที่มาทำคลอดให้ กล้วยทั้งหวีเป็นของเซ่นเทวดาและบรรพบุรุษในพิธีเซ่นไหว้อย่างคนจีน
น้ำชาและผลไม้เป็นเครื่องเซ่นพื้นฐานและผลไม้เครื่องเซ่นที่ขาดเสียมิได้ก็คือส้มสีทองและกล้วยทั้งหวี ขนมกล้วยเป็นขนมที่พบได้ประจำในพิธีหมั้นพิธีแต่งงานของชาวไทยสมัยก่อน เพราะกล้วยหมายถึงความเจริญงอกงาม ได้ผลดกดื่นเหมือนกล้วยในแทบทุกชนชาติของเอเชีย ยังมีเหตุผลความเชื่อลึก ๆ ว่ากล้วยเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตและการเจริญเติบโต ข้อนี้เป็นความเชื่อที่ถูกต้องเพระเด็กในสังคมเมืองทั่วโลกในปัจจุบันก็เติบโตโดยอาศัยกล้วยแปรรูป หรือพิวรี (banana puree) มาใช้ผสมเป็นอาหารเด็กจนได้ชื่อว่า "เด็กยุคพิวรีกล้วย" อยู่แล้ว (the pureed-banana generation)